ผู้ทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 และพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547

 

ผู้ทำบัญชี
ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 และพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547

 

ผู้ทำบัญชี
          คือ ผู้รับผิดชอบในการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีไม่ว่าจะกระทำในฐานะลูกจ้างของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือไม่ก็ตาม 
ได้แก่บุคคลต่อไปนี้
(1) กรณีเป็นพนักงานของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ได้แก่ 
          - ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี สมุห์บัญชี หัวหน้าแผนกบัญชี หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น
            ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
(2.) กรณีเป็นสำนักงานบริการรับทำบัญชี คือ
          - หัวหน้าสำนักงาน กรณีสำนักงานมิได้จัดตั้งในรูปคณะบุคคล
          - ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งรับผิดชอบในการให้บริการรับทำบัญชีกรณีสำนักงานจัดตั้งในรูปคณะบุคคล
          - กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งรับผิดชอบในการให้บริการรับทำบัญชี กรณีสำนักงานจัดตั้งในรูปนิติบุคคล
(3) กรณีเป็นผู้รับจ้างทำบัญชีอิสระ คือ ผู้ประกอบวิชาชีพ
(4) ผู้ช่วยผู้ทำบัญชี (ในกรณีที่ “ผู้ทำบัญชี” รับทำบัญชีเกินกว่า 100 ราย ตามประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ.2543 ข้อ 7(3))

หน้าที่ของผู้ทำบัญชี 
- จัดทำบัญชีเพื่อให้แสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงินหรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของ “ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี” ที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการบัญชีโดยมีเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน (ม.20)
- ลงรายการบัญชีเป็นภาษาไทย หากลงรายการเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ หรือลงรายการเป็นรหัสบัญชีให้มีคู่มือคำแปลรหัสบัญชีที่เป็นภาษาไทยไว้ (ม.21(1))
- เขียนด้วยหมึก ดีดพิมพ์ หรือตีพิมพ์ หรือทำด้วยวิธีอื่นใดที่ได้ผลในทำนองเดียวกัน (ม.21(2)) 

คุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้ทำบัญชี
คุณสมบัติทั่วไป คุณวุฒิการศึกษา เงื่อนไข
- มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
- มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ทำบัญชีได้
- ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีหรือกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี หรือกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ตามขนาดธุรกิจที่กำหนดแต่ละกลุ่ม
- ปริญญาตรีทางการบัญชีหรือเทียบเท่า ทำบัญชีได้ทุกธุรกิจ
- ประกาศนียบัตรวิชาชีพบัญชีชั้นสูง(การบัญชี) หรืออนุปริญญา(บัญชี) สำหรับบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่มี
      - ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท
      - รายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท
      - สินทรัพย์รวม ไม่เกิน 30 ล้านบาท
- สำหรับบุคคลธรรมดา หากเจ้าของกิจการจัดทำบัญชีเองไม่กำหนดคุณวุฒิการศึกษา แต่ถ้าจ้างบุคคลอื่นจัดทำบัญชีให้ผู้ทำบัญชีต้องมีคุณวุฒิการศึกษาตามที่กำหนด
-แจ้งรายละเอียดตามแบบ ส.บช.5 หรือ ส.บช.6 ภายใน 60 วัน นับจาก
      - วันเริ่มทำบัญชี
      - วันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับผู้ทำบัญชี
- เข้าอบรมความรู้เกี่ยวกับบัญชี ตามที่กำหนด
- ต้องรับทำบัญชีใม่เกิน 100 รายหากเกินจะต้องมีผู้ช่วยที่มีคุณวุฒิเพิ่มอีก 1 คน ทุก 100 รายที่เพิ่ม (เศษของ 100 ถ้าเกิน 50 ให้นับเป็น 100) ตามประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่องกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ.2543 ข้อ7(3)

การแจ้งเป็นผู้ทำบัญชี
        ผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติตาม ม.7(6) แห่ง พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 ต้องแจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีที่สำนักกำกับดูแลธุรกิจหรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ตามที่อยู่หรือสถานที่ทำงานของผู้แจ้งเพียงแห่งเดียว ตามแบบ ส.บช.5 พร้อมหลักฐาน ภายใน 60 วันนับแต่วันที่เริ่มทำบัญชี 

การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลของผู้ทำบัญชีและการแจ้งการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพในทุกรอบสามปี
        กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดบริการให้ผู้ทำบัญชีสามารถแจ้งเพิ่ม ยกเลิกธุรกิจที่รับทำบัญชี และแจ้งการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพในทุกรอบสามปีทาง Internet ได้ด้วยตนเองซึ่งจะทำให้ผู้ทำบัญชีไม่ต้องส่งแบบแจ้งเพิ่ม ยกเลิกธุรกิจที่รับทำบัญชี และแบบแจ้งการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพจะช่วยให้เกิดความสะดวกมากขึ้น โดยผู้ทำบัญชีต้องกรอกข้อมูลในแบบแจ้งความประสงค์ฯ เพื่อรับหมายเลขผู้ใช้ (User ID) และรหัสผ่าน (Password) กับกรมพัฒนาธุรกิจ- การค้าก่อน ซึ่งท่านสามารถพิมพ์แบบแจ้งความประสงค์ฯ ได้โดยเข้าไปที่ www.dbd.go.th เลือกบริการกรม เลือกงานบัญชีและสอบบัญชีบัญชี เลือกแบบพิมพ์ตามพระราชบัญญัติการบัญชีและจัดส่งแบบแจ้งความประสงค์ไปที่ สำนักกำกับดูแลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เลขที่ 44/100 ถนนนนทบุรี1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 (งานกำกับผู้ทำบัญชี) จึงจะสามารถดำเนินการได้
        การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลของผู้ทำบัญชีในกรณีอื่น เช่น การแจ้งเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เปลี่ยนคุณวุฒิการศึกษา ฯลฯ ให้ผู้ทำบัญชีแจ้งเป็นเอกสารตามแบบส.บช.6 โดยแนบเอกสารสำคัญ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องตามหลักเกณฑ์เดิมที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลของผู้ทำบัญชีต้องแจ้งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพทุกรอบสามปี
        ผู้ทำบัญชีต้องเข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพในทุกรอบสามปี โดยในแต่ละรอบต้องมีจำนวนชั่วโมงไม่น้อยกว่า 27 ชั่วโมงและต้องเป็นกิจกรรมที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการบัญชีไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมงซึ่งในแต่ละปีผู้ทำบัญชีจะต้องเข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงและการนับจำนวนชั่วโมงทุกรอบระยะเวลาสามปีให้นับตามปีปฏิทิน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2548เป็นต้นไป ในกรณีที่ผู้ทำบัญชีแจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีต่ออธิบดี หลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2548 ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีถัดจากปีที่ผู้ทำบัญชีแจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีเป็นต้นไป ทั้งนี้ ในรอบระยะเวลา แรกผู้ทำบัญชีสามารถนำชั่วโมงที่เข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ ตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ หรือตั้งแต่วันที่แจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีต่ออธิบดีภายหลังวันที่ 10 สิงหาคม 2547 แล้วแต่กรณี ไปนับรวมกับชั่วโมงในรอบระยะเวลาแรกได้
        การแจ้งรายละเอียดการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพของผู้ทำบัญชี ให้ผู้ทำบัญชีแจ้งภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของทุกปี โดยผู้ทำบัญชีต้องจัดเก็บหลักฐานการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีไว้กับตนเองเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของวันที่สิ้นสุดการอบรม

การสมัครเป็นสมาชิกหรือขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี
        ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 มาตรา 44 ได้กำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเป็นผู้ทำบัญชี เว้นแต่เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี หรือ ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
        ผู้ทำบัญชีต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับคุณวุฒิการศึกษาหากสมัครเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ผู้ทำบัญชีจะมีสิทธิที่จะเข้าประชุมสภาวิชาชีพบัญชี มีสิทธิเลือกนายกสภาวิชาชีพบัญชี มีสิทธิรับเลือกตั้ง และรับแต่งตั้ง แต่การขึ้นทะเบียน ผู้ทำบัญชีจะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ดังกล่าว ผู้ทำบัญชีสามารถติดต่อกับสภาวิชาชีพบัญชีได้ที่ www.fap.or.th โทรศัพท์ 026688071-4,026688535-8