บริษัท เอสเอ็มแอล ออดิท จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0115555017811 -สาขาบางนา,สมุทรปราการ
ที่อยู่ : เลขที่ 599/43 ซอยก่อนตึกแอคเซียม ถนนกิ่งแก้ว-บางพลี หมู่ 7 ตำบล : บางพลี
อำเภอ : บางพลี จังหวัด :สมุทรปราการ รหัสไปรษณีย์ : 10540
มือถือ : 080-553-7088 /080-5537077 โทร :023494340 /02-758-8994 แฟกซ์ : 021020819
อีเมล :sale@smlaudit.com, smlaudit@hotmail.com
เว็บไซต์ : www.smlaudit.com
หมายเหตุภาษี ในงบการเงิน (2) หมายเหตุภาษี ในงบการเงิน (2) บริษัทข้ามชาติใน SET ที่หยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์กลยุทธ์ภาษี & ธุรกิจในวันนี้ คือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ซึ่งถือเป็นเจ้ายุทธจักรอาหารและเกษตรของไทย
ด้วยวิสัยทัศน์การทำธุรกิจอาหารและเกษตรแบบครบวงจร จนสามารถเปิดตลาดเชิงรุกสู่การลงทุน/ร่วมลงทุนในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมกับประเทศต่างๆ อาทิเช่น อเมริกา สหภาพยุโรป มาเลเซีย อินเดีย จีน รัสเซีย ลาว และเวียดนาม ฯลฯ จนประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในไทยและเวทีโลก กรณีศึกษา (case study) ของ CPF จึงน่าติดตามมาวิเคราะห์เจาะลึกเป็นอย่างยิ่ง !
1. พลิกปูม ‘กลยุทธ์ธุรกิจข้ามชาติ’ ในสไตล์ CPF
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ จำกัด (จัดตั้ง 17 มกราคม 2521) เริ่มดำเนินธุรกิจจากการขายอาหารสัตว์บกและขายสู่การเลี้ยงสัตว์บก/สัตว์น้ำ และตั้งบริษัท CPF ขึ้นมา take over ธุรกิจดังกล่าว (ปี 2542) เพื่อเดินสู่ยุทธศาสตร์ธุรกิจครบวงจร อันได้แก่ การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์
การขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศดังกล่าว ก็เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตและเป็นช่องทางจัดจำหน่าย โดยจดทะเบียนเข้า SET ในปี 2530 โดยมีผลประกอบการปี 2547-2549 ดังนี้
ปี 2547 ปี 2548 ปี 2549
ล้านบาท ร้อยละ ล้านบาท ร้อยละ ล้านบาท ร้อยละ
รายได้จากการขายสุทธิ 91,790 98 113,374 97 124,931 98
รายได้อื่น 1,029 1 2,334 2 1,841 1
ต้นทุนขาย 81,388 87 94,485 81 108,158 85
ดอกเบี้ยจ่าย 910 1 1,245 1 1,953 2
ภาษีเงินได้ 436 1 1,593 1 329 -
กำไรสุทธิ 1,237 1 6,747 6 2,510 2
2.หมายเหตุภาษีในงบการเงิน CPF
ในที่นี้ขอยกมากล่าวเฉพาะประเด็นภาษีที่เป็นสาระสำคัญ โดยเน้นเจาะถึงกลยุทธ์ภาษี & ธุรกิจ พอสังเขป ดังนี้ครับ
2.1 การจัดหน่วยภาษี..
ตามประมวลรัษฎากรของไทย การขายพืชและสัตว์ที่ยังไม่แปรรูป จะได้รับยกเว้น VAT 7% จึงคงต้องชำระเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% ของกำไรสุทธิ
ณ 31 ธันวาคม 2549 CPF มีบริษัทย่อยถึง 46 บริษัท (33 บริษัทในไทย และ 13 บริษัทตั้งในต่างประเทศ) ซึ่งประกอบด้วยบริษัทร่วมลงทุน 2 แห่ง ตั้งอยู่ในประเทศ British Virgin Island (BVI) ซึ่งเป็น Tax Haven country จึงสามารถประหยัดภาษีสำหรับเงินปันผลและ capital gains ที่เกิดขึ้นจากกิจการลงทุนดังกล่าว
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ CPF มีบริษัทย่อยมากเกินไปหรือไม่ เพราะอาจมีปัญหาในการบริหารงานและการมีรายการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะมีความยุ่งยากในทางธุรกิจในประเด็นการตั้งราคาโอนที่เหมาะสมเพื่อวัดผลการปฏิบัติงานของแต่ละบริษัท นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาด้านภาษีอากร ซึ่งอาจต้องชำระสูงกว่ากรณีมีบริษัทน้อยราย
การจัดหน่วยธุรกิจ & ภาษี (tax entity) จึงต้องมองให้ออกถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างมาอธิบายพอสังเขป ดังนี้ครับ
(1) การตั้งสาขา (branch) หรือเปิดบริษัทใหม่ (subsidiary) ซึ่งมีความแตกต่างกันในภาระภาษี เนื่องจากกรณีของสาขา ซึ่งถูกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศแหล่งเงินได้ (source country) สามารถนำยอดภาษีดังกล่าวมาเป็นเครดิตที่บริษัทแม่เฉพาะกรณีมีอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ (DTA) ทำให้ภาระภาษีโดยรวมจะต่ำกว่าประเทศที่ไม่มี DTA ส่วนกรณีของ subsidiary ซึ่งถือเป็นคนละหน่วยภาษีกับบริษัทแม่ ก็อาจประหยัดภาษีได้หากตั้งอยู่ในประเทศที่มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าไทย
แนวคิดอีกมุมหนึ่งในการจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ก็คือ หากประเทศนั้นๆ มีข้อจำกัดในการใช้จำนวนเครดิตภาษี หรือกรณีที่มีความเสี่ยงว่าประเทศแหล่งเงินได้อาจกำหนดรายได้จากการประกอบการของสถานประกอบการ (Permanent Establishment (P.E.)) ให้สูงกว่าความเป็นจริง (เช่น อำนาจตามมาตรา 65 ทวิ(4) ของไทย)
(2) การตั้งสำนักงานตัวแทน (Representative office) ซึ่งไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากมีหน้าที่เพียงการเตรียมการหรือหาข้อมูลแก่บริษัทแม่ โดยมิได้ทำกิจกรรมใดๆ ในการหารายได้โดยตรง กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขของ P.E. (ซึ่งต้องเสียภาษีนิติบุคคล)
(3) การตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการลดภาระภาษีในประเทศแหล่งเงินได้ และลดภาระภาษีของผู้เป็นหุ้นส่วน (partner) ในประเทศถิ่นที่อยู่ (residence country)
ตามหลักกฎหมายภาษีระหว่างประเทศ จะมีการจำแนก JV ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
เป็นหน่วยภาษีที่ต้องเสียภาษีนิติบุคคลแบบเดียวกับบริษัทจำกัด (เช่นกรณีของประเทศไทย (ม.39))
ไม่ถือเป็นหน่วยภาษีแยกออกมาต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน ดังนั้นจึงไม่มีภาระภาษีเงินได้
เป็น hybrid คือ ถือเป็นหน่วยภาษีในประเทศแหล่งเงินได้แต่ไม่ถือเป็นหน่วยภาษีในประเทศถิ่นที่อยู่
เป็น reverse hybrid คือไม่เป็นหน่วยภาษีในประเทศแหล่งเงินได้ แต่เป็นหน่วยภาษีในประเทศถิ่นที่อยู่
กรณีของประเทศ ออสเตรเลีย ก็ถือว่า general partnership ไม่ถือเป็นหน่วยภาษี ส่วนประเทศญี่ปุ่น ก็ถือว่ากิจการในรูปแบบ Nin-I Kumiai ไม่ถือเป็นหน่วยภาษีเช่นเดียวกันอย่างไรก็ตามมีหลายๆ ประเทศในโลกไม่อนุญาตให้จัดตั้งองค์กรธุรกิจในลักษณะที่ไม่ถือเป็นหน่วยภาษี
ดังนั้น หากจะตั้งองค์กรแบบ JV ก็ต้องพิจารณาถึงภาระภาษีของ 3 กรณี ประกอบกันคือ
ภาระภาษีสำหรับรายได้จากการประกอบกิจการ (operational tax)
ภาระภาษีจากการจำหน่ายกำไร เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าสิทธิ (repatriation tax)
ภาระภาษีของผู้ลงทุนหรือผู้เป็นหุ้นส่วนกรณีโอนเงินลงทุน และ capital gains เมื่อเลิก JV (exit tax)
(4) การจัดตั้ง Holding Company เช่นกรณีของ Bkp Holding Limited และ CPF Investment Limited (ในประเทศ BVI) นั้น ในกรณีทั่วไปอาจกำหนดให้ Holding Company เป็นผู้ลงทุนหรือมีส่วนความเป็นเจ้าของใน JV เพื่อได้สิทธิประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อน ในกรณีของการจำหน่ายกำไรหรือจ่ายเงินปันผลหรือเมื่อเลิก JV ดังกล่าว (exit tax) เป็นต้น
2.2 การแบ่งปันต้นทุนของบริษัทในเครือ (cost sharing)..
การมีบริษัทลูกมากมายถึง 46 บริษัท กระจายอยู่ทั้งในและต่างประเทศ ย่อมแน่นอนว่าจะต้องมีรายการปันส่วนรายจ่ายทางอ้อม เช่น ค่าวิจัยและพัฒนา (research & developement costs) ค่าใช้จ่ายในการบริหารการตลาดทั่วโลก เป็นต้น ซึ่งมักเกิดที่ส่วนกลาง (คือ สำนักงานใหญ่) แต่เป็นรายจ่ายที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทในเครือต่างๆ
ในทางการบริหาร การรวมศูนย์ต้นทุนเหล่านี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพของผลสัมฤทธิ์ และยังช่วยประหยัดรายจ่ายดังกล่าวลงอีกด้วย ส่วนในแง่ภาษีอากรนั้น กรณีจะเกิดประเด็นปัญหาหลายประการ ดังนี้
เกณฑ์ในการแบ่งสรรรายจ่ายทางอ้อมดังกล่าว ต้องเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และชอบด้วยหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกรมสรรพากรแต่ละประเทศด้วย
กรณีการออกบิลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายระหว่างกันเพื่อชดเชยคืนแก่สำนักงานใหญ่ ก็จะเกิดประเด็นราคาโอน (Transfer pricing) ได้ โดยเฉพาะกรณีของการคิดค่าใช้จ่ายข้ามชาติ ซึ่งสรรพากรแต่ละประเทศอาจยึดหลักเกณฑ์แตกต่างกัน ทำให้ภาระภาษีอาจสูงกว่าที่ควรจะเป็น
กล่าวสำหรับประมวลรัษฎากรของไทย ได้วางหลักเกณฑ์การปันส่วนรายจ่ายไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.13/2529 ว่าจะต้องเป็นกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนและเข้าลักษณะดังต่อไปนี้
ต้องเป็นรายจ่ายในการให้ความช่วยเหลือหรือให้บริการของสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการของสาขาในไทย
กรณีของค่า R & D สาขาในไทยต้องได้รับประโยชน์จากการนั้น
ต้องไม่มีการหักเป็นรายจ่ายซ้ำซ้อนกันใน 2 ประเทศ (double expeness)
วิธีการปันส่วนต้องชอบด้วยหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปและถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
2.3 การให้บริการระหว่างกัน.ในกรณี “การให้บริการทางเทคนิค” ซึ่ง CPF ทำสัญญาว่าจ้าง CPG (ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน CPF) ให้ทำการค้นคว้าและพัฒนาส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ โดยคิดค่าบริการตามปริมาณการผลิตอาหารสัตว์ในแต่ละเดือนนั้น
โดยปกติ Chief Financial Officer (CFO) ของกิจการ จะเป็นผู้วางหลักเกณฑ์การคิดราคาระหว่างกันให้เหมาะสมและยอมรับทั้งแง่ของการบริหารธุรกิจและภาษีอากร ซึ่งหลักกฎหมายภาษีสากลจะยึดเอาราคาตลาด (arm’s length price) ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้หลายวิธีคือ Comparable Uncontrolled Price Method , Cost Plus Method และ Transactional Net Margin Method แต่โดยทั่วไปผู้ผลิต โรงงาน และผู้ให้บริการ มักนิยมใช้วิธีพื้นฐานจากต้นทุน (cost-based method) อย่างไรก็ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการทางธุรกิจคือ
สามารถวัดผลงานของกิจการออกมาได้อย่างถูกต้อง
สามารถสร้างผลกำไรสูงสุดในภาพรวม โดยไม่บิดเบือนให้ผลกำไรตกอยู่กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ซึ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากร หรือเงินทุนของบริษัทในเครืออื่นๆ
ผู้จัดการของแต่ละสาขาหรือฝ่าย มีอำนาจและความรับผิดชอบในการตัดสินใจทางธุรกิจตามควรแก่กรณี
เรื่อง : อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์ |
หมายเหตุภาษี ในงบการเงิน
![]() ![]() ![]() ![]() |