บริษัท เอสเอ็มแอล ออดิท จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0115555017811 -สาขาบางนา,สมุทรปราการ
ที่อยู่ : เลขที่ 599/43 ซอยก่อนตึกแอคเซียม ถนนกิ่งแก้ว-บางพลี หมู่ 7 ตำบล : บางพลี
อำเภอ : บางพลี จังหวัด :สมุทรปราการ รหัสไปรษณีย์ : 10540
มือถือ : 080-553-7088 /080-5537077 โทร :023494340 /02-758-8994 แฟกซ์ : 021020819
อีเมล :sale@smlaudit.com, smlaudit@hotmail.com
เว็บไซต์ : www.smlaudit.com
เงินได้พึงประเมิน (12) เงินได้พึงประเมิน (12) ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ผู้คำนวณต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินและหลักการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน
ขอนำประเด็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา ขอให้ช่วยจำแนกเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ตามบทบัญญัติมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า “เงินได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้านที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่งานหรือตำแหน่งงานหรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นประจำหรือชั่วคราว” ให้ชัดเจนด้วย
วิสัชนา จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจจำแนกประเภทเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ได้ดังนี้
1. ผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ได้แก่
(1) ผู้มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ ได้แก่ คณะกรรมการผู้บริหารบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รัฐวิสาหกิจ สหกรณ์ ซึ่งมักจะได้รับเงินได้ที่เป็นเบี้ยประชุม โบนัส เงินค่าเช่าบ้านที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำนั้น เป็นต้น
(2) ผู้มีเงินได้เนื่องจากรับทำงานให้ ได้แก่ พนักงานขาย ซึ่งได้รับเงินได้ที่เป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า หรือส่วนลด รวมทั้งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการรับทำงานให้นั้น เป็นต้น
2. เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ เป็นเงินได้ที่เกิดจากการที่ผู้มีเงินได้มีตำแหน่ง หรือหน้าที่งานที่ทำในองค์การ โดยมิใช่การจ้างแรงงานหรือการรับทำงานให้ หรือการจ้างทำของ เช่น คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ควบคุม ดูแล การบริหารงานของบริษัทให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัท เป็นต้น
เงินได้จากการรับทำงานให้ เป็นเงินได้ตามสัญญาจ้างทำของประเภทหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคลสองฝ่ายคือ "ผู้ว่าจ้าง" และ "ผู้รับจ้าง" โดยผู้ว่าจ้างสัญญาว่าจะจ่าย "สินจ้าง" ให้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จ (คำนึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ) และผู้รับจ้างสัญญาว่าจะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้งนี้ ผู้รับจ้างทำงานให้โดยอาศัยแรงงานเป็นสำคัญมิได้มีการจัดหาสัมภาระ และในการรับทำงานให้ดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายในการรับทำงานดังกล่าวน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย เช่น บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจรับฝึกอบรมและสัมมนาให้กับสมาชิก และบุคคลทั่วไป โดยเชิญบุคคลภายนอกมาเป็นวิทยากร เงินค่าตอบแทนที่บริษัทฯ จ่ายให้กับวิทยากร ถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/4257 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2536)
3. เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ทั้งในส่วนของเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ และเงินได้เนื่องจากรับทำงานให้ดังกล่าว ต่างต้องมีลักษณะเป็นเงินได้ที่เป็นผลตอบแทนการใช้แรงงานที่กระทำโดย "บุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล" เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายกำหนดให้เงินได้ทั้งสองประเภทดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้แต่รวม กันต้องไม่เกิน 60,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก ดังนั้น สำหรับเงินได้จากการรับทำ งานให้ซึ่งทำในรูปของธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงอาจเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจ ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่กฎหมายกำหนดยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า โดยผู้มีเงินได้อาจเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาก็ได้
ปุจฉา มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการจำแนกประเภทเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้อย่างไร
วิสัชนา เงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้อาจเข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของที่มาของเงินได้ดังนี้
1. กรณีเงินได้ประเภทที่ 2 เงินได้จากการรับทำงานให้เป็นกรณีที่ผู้มีเงินได้จากการรับทำงานให้นั้นต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้ และมีค่าใช้จ่ายจำนวนน้อย (ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท)
2. กรณีเงินได้ประเภทที่ 6 เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องอาศัยวิชาชีพอิสระเป็นปัจจัยในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้ อันได้แก่ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม
3. กรณีเงินได้ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน ด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เป็นเงินได้จากการรับทำงานให้โดยการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องจัดหาสัมภาระ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับจ้างทำงานให้นอกจากเครื่องมือมาประกอบการรับทำงานให้นั้นด้วย
4. กรณีเงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้จากการธุรกิจซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ที่กระทำในรูปธุรกิจที่ผู้มีเงินได้มุ่งหวังผลกำไรและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการสูง
ที่มา http://www.nationejobs.com/content/legal/taxclinic |
เงินได้พึงประเมิน