บริษัท เอสเอ็มแอล ออดิท จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0115555017811 -สาขาบางนา,สมุทรปราการ
ที่อยู่ : เลขที่ 599/43 ซอยก่อนตึกแอคเซียม ถนนกิ่งแก้ว-บางพลี หมู่ 7 ตำบล : บางพลี
อำเภอ : บางพลี จังหวัด :สมุทรปราการ รหัสไปรษณีย์ : 10540
มือถือ : 080-553-7088 /080-5537077 โทร :023494340 /02-758-8994 แฟกซ์ : 021020819
อีเมล :sale@smlaudit.com, smlaudit@hotmail.com
เว็บไซต์ : www.smlaudit.com
เงินได้พึงประเมิน (2) เงินได้พึงประเมิน (2) ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ผู้คำนวณต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินและหลักการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน
ขอนำประเด็นเงินได้พึงประเมินมาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา โดยทั่วไปมีการกำหนดหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ไว้อย่างไร
วิสัชนา ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลมี โดยทั่วไปรัฐบาลของประเทศต่างๆ มีหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ โดยอาศัยอำนาจในการจัดเก็บภาษีดังนี้
1. หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) กรณีบุคคลมีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศใด ประเทศนั้นย่อมมีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะจัดเก็บภาษีเงินได้จากบุคคลนั้น
2. หลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule) กรณีบุคคลมีถิ่นที่อยู่เป็นการถาวรหรือเป็นการประจำในประเทศใด (ซึ่งส่วนมากกำหนดให้อยู่ในประเทศนั้นถึง 180 วันในปีภาษี) ประเทศนั้นย่อมมีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะจัดเก็บภาษีเงินได้จากบุคคลนั้น ไม่ว่าเงินได้นั้นจะเกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศหรือแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ
3. หลักสัญชาติ (Nationality Rule) กรณีบุคคลถือสัญชาติของประเทศใด ประเทศนั้นย่อมมีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะจัดเก็บภาษีเงินได้จากบุคคลนั้น เช่นเดียวกับหลักถิ่นที่อยู่
ปุจฉา ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร จำแนกแหล่งเงินได้พึงประเมิน ไว้อย่างไร
วิสัชนา มาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร จำแนกแหล่งเงินได้ไว้ดังนี้
1. แหล่งเงินได้ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร)
ผู้มีเงินได้ที่เกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทยดังต่อไปนี้ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศก็ตาม
(1) เงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย ได้แก่ กรณีที่ผู้มีเงินได้ปฏิบัติหน้าที่งานที่ทำอันก่อให้เกิดเงินได้นั้นในประเทศไทย อาทิ
(ก) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
(ข) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงาน
(ค) เงินปีที่พระบรมวงศานุวงศ์ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายจากทางราชการ
(2) เงินได้เนื่องจากกิจการที่ทำในประเทศไทย ได้แก่ กรณีที่ผู้มีเงินได้ประกอบกิจการ หรือมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเงินได้ในประเทศไทย อาทิ
(ก) เงินได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน
(ข) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
(ค) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
(ง) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นใด เช่น ค่าแสดงของนักแสดงสาธารณะ รางวัลจากประกวดแข่งขันหรือชิงโชค
(3) เงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย ได้แก่ กรณีที่ผู้มีเงินได้ที่เป็นลูกจ้างและมีหน้าที่งานอันก่อให้เกิดเงินได้ในต่างประเทศ (ซึ่งโดยทั่วไปถือเป็นเงินได้จากแหล่งเงินได้ในต่าง ประเทศ) แต่หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศนั้นเป็นไปเพื่อกิจการของนายจ้างที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะ อาทิ ข้าราชการประจำสถานทูตไทยในต่างประเทศ พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่งานในต่างประเทศ เช่น ทำสัญญา ฝึกอบรม ศึกษาและดูงาน เป็นต้น เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ เพื่อกิจการของบริษัทนายจ้างที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะ
(4) เงินได้เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ได้แก่ กรณีที่ผู้มีเงินได้ (ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม) มีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย และทรัพย์สินนั้นก่อให้เกิดเงินได้ อาทิ
(ก) ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น
(ข) ดอกเบี้ย เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ผลประโยชน์ที่ได้จากการเพิ่มทุน ลดทุน เลิกกิจการหรือควบกิจการ
(ค) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
2. แหล่งเงินได้ในต่างประเทศ (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)
ผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ จะมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรก็ต่อเมื่อครบเงื่อนไขหรือองค์ประกอบดังต่อไปนี้
(1) ผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย โดยจะอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา แต่รวมเวลาที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดถึง 180 วันในปีภาษี (ซึ่งอาจพิจารณาได้จากหนังสือเดินทาง (Passport) ของผู้มีเงินได้)
(2) เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 อันเกิดจากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ ดังนี้
(ก) เงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ ได้แก่ กรณีที่ผู้มีเงินได้ปฏิบัติหน้าที่งานที่ทำอันก่อให้เกิดเงินได้ในต่างประเทศ และการปฏิบัติหน้าที่งานนั้นเป็นไปเพื่อกิจการของนายจ้างหรือผู้ว่าจ้างที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ
(ข) เงินได้เนื่องจากกิจการที่ทำในต่างประเทศ
(ค) เงินได้เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
(3) ผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้อันเกิดจากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศดังกล่าว เข้ามาในประเทศไทย โดยนำเข้ามาภายในปีภาษีเดียวกันกับปีที่เกิดเงินได้นั้น
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
ที่มา http://www.nationejobs.com/content/legal/taxclinic |
เงินได้พึงประเมิน